Wine n' About | ดื่มไวน์เบาๆช่วยให้คุณแก่ขึ้น… อย่างสง่างาม จริงหรือ?
Articles , Lifestyle
ดื่มไวน์เบาๆช่วยให้คุณแก่ขึ้น… อย่างสง่างาม จริงหรือ?
Photo by: iStock

Photo by: iStock

“ความเปราะบาง” เป็นคำที่มีความหมายคลอบคลุมถึง สภาวะของความไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ  สมรรถภาพของร่างกายที่ลดน้อยถอยลง ซึ่งล้วนเป็นอาการที่มักพบได้ในกลุ่มผู้สูงวัย

ก่อนหน้านี เคยมีงานวิจัยต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะของความแก่ชรานี้ กับอาการอักเสบในร่างกาย โดยใช้ระดับค่า ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein – CRP) เป็นตัวชี้วัด ซึ่งสารที่ผลิตจากตับ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดากลาง คุณ Mona Shah ได้นำรายงานเก่าๆมาขยายต่อยอด โดยมุ่งไปที่ทำการวิเคราะห์บทบาทของระดับ CRP ในร่างกายของผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ กับความสามารถในการควบคุมภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย

คุณ Daniel Paulson ในฐานะผู้อำนวยการห้องทดลองของสถาบันวิจัย Orlando Later-Life Developmental Research (OLDeR) และที่ปรึกษาของคุณ Shah กล่าวว่า “การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า ทำไมแอลกอฮอล์จึงสามารถมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของผู้สูงอายุได้”

“เรารู้กันมานานแล้วว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถนำมาซึ่งคุณประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น”

คุณ Shah จึงทำการวิเคราห์หาสาเหตุนี้ โดยใช้ข้อมูลจากสถาบันวิจัย Heath and Retirement Studyในปี 2008 ซึ่งเธอได้ทำการวิเคราะห์จากปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อสัปดาห์ (อิงจากคำรายงานของกลุ่มตัวอย่างเอง) และระดับค่า CRP ในร่างกาย (ซึ่งได้จากการตรวจเลือด) ของกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 3,229 คน เพื่อดูว่าค่าต่างๆเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างไรต่อความอ่อนแอในร่างกายของผู้สูงอายุ

ในการวิเคราะห์ได้มีการนำค่าดัชนีชี้วัดความเปราะบางที่เรียกว่า Paulson-Lichtenberg Frailty Index มาเป็นตัวชี้วัดว่า กลุ่มตัวอย่างคนไหนที่เข้าข่ายเป็นผู้เปราะบาง โดยมี 5 คุณสมบัติเป็นเกณฑ์วัด คือ (ความอ่อนแรง, ความอ่อนแอ, ความเชื่องช้า, ความเหนื่อยล้า และความร่วงโรย) ผู้ที่มีลักษณะครบเกณฑ์เหล่านี้ จะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเปราะบาง

จากผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ (ซึ่งในการศึกษานี้ หมายถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ 1 ถึง 14 แก้วต่อสัปดาห์ ตามที่ระบุในคู่มือ Dietary Guidelines for Americans ปี 2010) มีระดับโปรตีน CRP ที่ต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีความอ่อนแอที่น้อยลง ในขณะที่ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย มีระดับค่า CRP และสภาวะความอ่อนแอที่สูงกว่า โดยในการวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้ทำการศึกษาผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก (คือดื่มมากกว่า 14 แก้วต่อสัปดาห์) จากการวิเคราะห์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระดับค่า CRP เป็นดัชนีที่สามารถนำมาชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ กับเปราะบางของร่างกายได้

จากคำกล่าวของคุณ Paulson การศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาในขั้นต้นเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า ระดับการบริโภคแอลกอฮอล์มีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ของสุขภาพอย่างไร

นักวิจัยจากห้องทดลองของสถาบัน OLDeR ได้วางแผนที่จะศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งคุณ Paulson ยังได้กล่าวเป็นนัยๆกับ Wine Spectator ว่า ยังอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่า การบริโภคแอลกอฮอล์อาจมีผลดีอื่นๆต่อร่างกายอีกด้วย เช่น เรื่องของโรคสมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องมีการศึกษากันต่อไป

เรียบเรียงจากบทความบนเว็บไซต์ http://www.winespectator.com